ประเด็นร้อน

หนุนขรก แสดงทรัพย์สินแนะยื่นทุก5ปีลดคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 14,2017

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

ปชป.ฝากนายกฯ เร่งออกมาตรการ-เชื่อโกงยากขึ้น

 

          ปชป.หนุนเจ้าหน้าที่รัฐแสดงบัญชีทรัพย์สิน เชื่อลดทุจริตได้ แนะควรทำทุก 5 ปี เผยนายกฯกำชับในที่ประชุมบอร์ดต้านคอร์รัปชันต้องดำเนินการกับทุกฝ่ายเสมอภาค สั่งศึกษาเพิ่มอำนาจ-บทบาทศอตช.

 

          จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการหารือให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยจัดเก็บไว้กับส่วนราชการที่สังกัด โดยใช้ระบบดิจิทัล ซึ่งสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ได้มีการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วนั้น

 

          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยวานนี้ (13 ส.ค.) ถึงข้อเสนอดังกล่าวว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการ

 

          การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการควรทำตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเข้าทำงานและควรแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกๆ 4 - 5 ปี เพื่อแสดงว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ในกรณีที่ถูกร้องเรียนว่าข้าราชการคนใดร่ำรวยผิดปกติ จะได้นำข้อมูลที่แจ้งไว้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

 

          ทั้งนี้ การให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องดีที่จะป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ทุจริตที่สำคัญ 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย 1. ฝ่ายการเมือง 2. ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ 3. ฝ่ายนักธุรกิจเอกชน เมื่อฝ่ายข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ถูกตรวจสอบมากขึ้น ก็จะทำให้การทุจริตยากมากขึ้นตามไปด้วย อันจะช่วยทำให้การทุจริตเบาบางลงตามสมควร

          นายองอาจ กล่าวต่อว่าขอฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เสริมสร้างมาตรการขจัดการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยให้ได้ผลมากขึ้น

 

          แหล่งข่าวระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2560 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานว่า ก่อนการประชุมนายกฯได้มอบนโยบายก่อนการปฏิบัติว่าการดำเนินคดีกับทุกกลุ่มต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการกระทำผิด ต้องถูกดำเนินการด้วย การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ใช่แก้ปัญหาเก่าแต่ไปสร้างปัญหาใหม่

 

          นอกจากนี้ในที่ประชุมอนุกรรมการด้านการป้องกันฯ ยังมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยนายกฯ ขอให้นำเรื่องนี้ไปศึกษาให้ถ่องแท้ ว่ามีประเทศใดบ้างที่ทำลักษณะนี้ และมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาหรือไม่ และถ้าจะทำให้กำหนดกรอบให้รัดกุม อย่าให้มีผลกระทบตามมา

 

          ทั้งนี้ การแสดงบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการที่เสนอเป็นการป้องกันข้าราชการที่เริ่มรับราชการต้องชี้แจงก่อนเข้ามามีทรัพย์สินอะไรบ้าง พอทำงานไปสักระยะก็จะต้องชี้แจงอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและปิดโอกาสให้ได้ยั้งคิด และนายกฯ ได้สั่งการว่า การดำเนินการครั้งนี้ถ้าจะทำต้องทำทุกกลุ่มเป้าหมาย กำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

 

          ส่วนความคืบหน้าของคดีสำคัญ เช่นการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะโรงเรียนสามเสน ศอตช.ได้รายงานความคืบหน้าในที่ประชุมทราบว่าป.ป.ท. ได้ตรวจสอบเสร็จแล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องต่อไปเร็วๆ นี้

 

          นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้เกี่ยวข้องกับกรณีเงินทอนวัด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้บูรณาการข้อมูลกัน ส่วนจะสาวไปถึงใครอยู่ที่เอกสารหลักฐาน

 

          ทั้งนี้ นายกฯ ได้ระบุว่าศอตช. ควรถูกยกระดับเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับมากกว่าหน่วยงานเฉพาะกิจที่ออกตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปคิดเรื่องนี้ ว่าควรเป็นหน่วยงานกลางที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนหน่วยงานราชการหรือไม่

 

          “นายกฯ ยังไม่ถึงขั้นออกเป็นคำสั่ง เพียงแต่มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษา เนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเห็นว่า ศอตช. เป็นกลไกเข้าไปขับเคลื่อนการดำเนินงานตรงนี้ จึงอยากให้องค์กรมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ  

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

 

Follow LINE Official : https://goo.gl/uT7yjS

Follow Facebook Fanpage : https://goo.gl/HXgWVU

Follow IG : https://goo.gl/aARAzS

 WebSite : http://www.anticorruption.in.th